เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2561 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะ “วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” แห่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นที่รู้จักของนานาชาติมากยิ่งขึ้น จากเหตุการณ์ “13 หมูป่าติดถ้ำ” หรือทีมนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิต ต้องติดอยู่ภายในถ้ำหลวง โดยการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากสภาพภูมิประเทศของถ้ำและภูมิอากาศช่วงมรสุมที่มีฝนตกตลอดจนทำให้ระดับน้ำในถ้ำสูงขึ้น จนทำให้เกิดการระดมสรรพกำลังในหลายๆ ส่วนของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ จากอีกหลากหลายประเทศ จนเรียกได้ว่าทั้งโลกต่างก็ร่วมลุ้นและเอาใจช่วยให้หมูป่าทั้ง 13 ชีวิตรอดปลอดภัยออกมาจากถ้ำ

หลังจากเหตุการณ์สงบเรียบร้อยดีแล้ว คราวนี้ใครๆ ต่างก็อยากจะไปเที่ยวชมในสถานที่จริงที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะที่ “ถ้ำหลวง” ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์ รวมไปถึงขุนน้ำนางนอนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน แต่ทั้งสองสถานที่ต่างก็ต้องเคลียร์พื้นที่และอุปกรณ์ รวมไปถึงปรับทัศนียภาพให้พร้อมสำหรับท่องเที่ยวอยู่หลายเดือน โดยเพิ่งพร้อมเปิดให้เข้าชม (บางส่วน) เมื่อราวเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา
บริเวณด้านหน้าปากถ้ำหลวง และศาลเจ้าแม่นางนอนทางซ้ายมือ

แต่เนื่องจากมีผู้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ทั้งสองแห่งเป็นจำนวนมาก จึงมีการจัดระเบียบจุดจอดรถ มีกฏระเบียบต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งวันนี้ถ้าเราอยากไปเที่ยวชมถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จะสามารถไปชมตรงจุดไหนได้บ้าง ต้องเดินไกลแค่ไหนอย่างไร วันนี้เราได้ไปสำรวจมาให้แล้ว

สำหรับจุดแรกคือ “ถ้ำหลวง” บริเวณถนนปากทางเข้าสู่ถ้ำหลวงวันนี้ปิดไม่ให้รถเข้า ให้เฉพาะคนเดินเท้าและรถสองแถวของพื้นที่รับส่งผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สะดวกในการเดิน ส่วนรอบๆ ปากทางเข้ามีลานจอดรถกว้างใหญ่หลายจุด เพราะในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนหลายพันคน และด้านหน้าทางเข้าวันนี้เต็มไปด้วยร้านค้าร้านขายของกินและของที่ระลึก แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากเดินทางมาชมในแต่ละวัน

ภายถ้ำหลวงยังคงเป็นเขตหวงห้าม

ระยะทางเดินเท้าจากปากทางสู่ถ้ำหลวงมีระยะทางประมาณ 500 เมตร ก็เรียกว่าไม่ใกล้แต่ก็ไม่ไกลมากนัก ถ้าคนสูงอายุก็อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าวัยรุ่นเดินไปคุยไปไม่นานก็ถึงที่บริเวณลานหน้าถ้ำหลวงแล้ว มาแวะถ่ายภาพกับป้ายวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนกันก่อน แล้วเดินแยกไปทางขวาเพื่อชมถ้ำหลวงและสักการะศาลเจ้าแม่นางนอน

บริเวณหน้าถ้ำหลวงมีการนำภาพปรินท์ขนาดใหญ่ของปากถ้ำหลวง ภาพมุมกว้างของดอยนางนอน และภาพจักรยานของ 13 หมูป่าที่จอดพิงไว้หน้าถ้ำ มาวางตั้งไว้เป็นจุดถ่ายรูปของประชาชนที่เข้ามาชมถ้ำหลวง
ชมได้เฉพาะด้านนอก

ส่วนบริเวณถ้ำหลวงจริงๆ นั้นเราสามารถชมได้เพียงด้านหน้าไกลๆ เท่านั้น เพราะมีรั้วเหล็กพร้อมลวดหนามกั้นพร้อมป้าย “เขตหวงห้าม ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด” ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้มาชม เนื่องจากยังไม่ได้มีการสำรวจถ้ำอย่างจริงจัง เกรงว่าจะเกิดอันตรายอย่างที่ผ่านมา โดยทางวนอุทยานฯ ได้ติดรูปภาพของถ้ำหลวงไว้พอให้เห็นบรรยากาศภายใน และมีรูปของหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณหน้าถ้ำ

ศาลเจ้าแม่นางนอน งดจุดธูปเทียนเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

ส่วนบริเวณใกล้เคียงกันนั้นเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่นางนอน เป็นศาลขนาดเล็กที่ภายในมีหุ่นของสตรีที่เป็นดังตัวแทนเจ้าแม่นางนอน ด้านหน้ามีดอกไม้สดที่ผู้มาเยี่ยมเยือนวางสักการะแด่เจ้าแม่ โดยทางวนอุทยานฯ ได้ขอความร่วมมืองดจุดธูปเทียนบริเวณนี้เนื่องจากเกรงว่าควันธูปเทียนจะไปทำลายระบบสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและระบบนิเวศน์ภายในถ้ำ

แม้จะชมได้เพียงด้านนอก แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่เราได้มายืนอยู่ในสถานที่สำคัญที่เคยเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลกในชั่วระยะเวลาหนึ่ง...
อนุสาวรีย์จ่าแซม มีประชาชนมาถ่ายรูปด้วยตลอดวัน

อีกหนึ่งจุดสำคัญที่หลายๆ คนตั้งใจมาเยือนก็คือ “อนุสาวรีย์จ่าแซม” หรือนาวาตรีสมาน กุนัน ฮีโร่ถ้ำหลวง ผู้เสียชีวิตในขณะทำภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่า รูปหล่อของจ่าแซมนี้หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ มีความสูง 3.2 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยผู้ริเริ่มและออกแบบแนวความคิดการสร้างรูปหล่อจ่าแซมก็คือ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และได้ อ.สราวุฒิ คำมูลชัย เป็นหัวหน้าทีมช่างปั้นสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

จ่าแซมและหมูป่า 13 ชีวิต

ภายในศาลาอนุสรณ์สถานมีภาพ The Heroes ติดตั้งไว้ให้ชม

news 005 10 2562

ด้านหลังอนุสาวรีย์จ่าแซมเป็นอาคารไม้ที่สร้างขึ้นเป็นศาลาอนุสรณ์สถาน ภายในศาลามีรูปวาด “The Heroes ภาพประวัติศาสตร์เพื่อให้โลกได้จดจำ มิตรภาพและความร่วมมือที่ไร้พรมแดน” ที่ศิลปินขัวศิลปะเชียงรายร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

ถ้ำพระ ความลึกประมาณ 40 เมตร สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้

สำหรับคนที่เสียดายว่าไม่ได้เข้าไปชมบรรยากาศด้านในของถ้ำหลวง ขอชวนมาชม “ถ้ำพระ” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์จ่าแซม โดยถ้ำพระนี้มีความลึกเพียง 40 เมตร และมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้บริเวณปากถ้ำด้วย หรือใครจะเข้าไปไหว้พระอย่างเดียวก็ได้

แต่สำหรับใครที่จะมาเที่ยวถ้ำหลวงในช่วงสองสามวันนี้ต้องขอแจ้งว่าทางถ้ำหลวงจะปิดชั่วคราวตั้งแต่วันนี้-20 มี.ค. เพื่อปฏิบัติภารกิจเก็บกู้อุปกรณ์กู้ภัยที่ตกค้างภายในถ้ำหลวง จึงประกาศปิดชั่วคราวเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่

ขุนน้ำนางนอน หรือสระขุนน้ำมรกต

แต่สำหรับการท่องเที่ยวที่ “ขุนน้ำนางนอน” หรือสระขุนน้ำมรกตที่อยู่ห่างจากถ้ำหลวงไปประมาณ 2 กิโลเมตรนั้นนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าไปเที่ยวชมกันได้ตามปกติ โดยการเข้าไปชมขุนน้ำนางนอนในวันนี้ก็จะต้องเดินจากบริเวณปากทางเข้าไปเป็นระยะทางประมาณ 350 เมตร สถานที่นี่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวแม่สายมาโดยตลอด จุดเด่นคือที่นี่เป็นบึงน้ำจืดขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดปี อีกทั้งบนหน้าผายังเป็นที่ตั้งของถ้ำทรายทองซึ่งเป็นถ้ำลอด มีความเป็นธรรมชาติสูง

สระน้ำสีเขียวใสสวยงาม

ในช่วงปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 หมูป่า บริเวณขุนน้ำนางนอนนี้เป็นบริเวณขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลบริเวณที่ทำการขุนน้ำนางนอน จนสามารถลดระดับน้ำที่อยู่ใต้ดินซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำภายในถ้ำหลวง และเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นก็ได้มีการเคลียร์พื้นที่ ปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม จากนั้นจึงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

ภายในพื้นที่มีป้ายข้อมูลของขุนน้ำนางนอนในอดีต ภาพปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ 13 หมูป่าในบริเวณขุนน้ำนางนอน รวมถึงการเริ่มต้นการฟื้นฟูขุนน้ำนางนอนโดยมีประชาชนจิตอาสาร่วมกันฟื้นฟูและทำความสะอาด รวมถึงปรับภูมิทัศน์จัดระเบียบร้านค้าให้ดูสวยงาม ปรับปรุงสะพาน ทำทางเดินเข้าชมสระน้ำจนสวยงามน่าชม
สะพานนี้เป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงาม

สระขุนน้ำมรกตมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ เป็นบึงน้ำสีเขียวใส มีป้ายตัวหนังสือ “สระขุนน้ำมรกต” เป็นจุดถ่ายภาพ บรรยากาศโดยรอบเป็นภูเขาและต้นไม้สูงสะท้อนน้ำในสระดูนิ่งสงบ ถ่ายภาพออกมาจากดูงดงามมาก บริเวณริมสระมีป้ายห้ามลงเล่นน้ำเนื่องจากหลังจากการขุดเจาะเพื่อระบายน้ำแล้วทำให้สระจะมีความลึกมากขึ้นกว่าเดิม หากลงเล่นอาจเป็นอันตรายได้

คงอีกพักใหญ่กว่าที่เราจะสามารถเข้าไปชมภายในถ้ำหลวงได้ เพราะนอกจากยังเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ภายในถ้ำไม่หมดแล้ว ก็ยังต้องมีการสำรวจเส้นทางในถ้ำอย่างละเอียด กำหนดเส้นทางที่เหมาะสมและปลอดภัยในการเที่ยวชม แต่ก็น่าดีใจที่ทางกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีแผนที่จะยกฐานะของวนอุทยานฯ ขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ และในอนาคตก็คงมีการอนุรักษ์และดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงพร้อมให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมด้วยเช่นกัน

น้ำนิ่งจนต้นไม้สะท้อนเงาในน้ำชัดเจน

สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สามารถท่องเที่ยวในเส้นทางเชื่อมโยงจากอำเภอเมืองมายังอำเภอแม่สาย โดยจากอำเภอเมืองสามารถแวะชมวิวดอยนางนอน อบต.แม่จัน อ.แม่จัน ซึ่งเป็นทางผ่าน และเป็นจุดชมวิวดอยนางนอนได้ชัดเจนและสวยงามที่สุด จากนั้นขึ้นไปเยี่ยมชมสวนแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง พระธาตุดอยตุง สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ จากนั้นขับรถเลาะมาตามชายแดนไทย-เมียนมา ทางอำเภอแม่สาย แวะจิบกาแฟและเยี่ยมชมหมู่บ้านผาฮี้ หมู่บ้านผาหมี แล้วลงสู่พื้นราบมาชมถ้ำหลวง และขุนน้ำนางนอน และพักผ่อนที่ตัวอำเภอแม่สายสัก 1 คืน ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว ที่กิน ที่พัก ได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย โทร.0 5374 4674