ประวัติความเป็นมา
พระธาตุแสนคำฟู เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีที่ตั้งอยู่ติดชายแดนแม่น้ำโขงไทย – ลาว ซึ่งมีตำนานยาวมานับพันปี เมื่อก่อนวัดพระธาตุแสนคำฟูแห่งนี้ เป็นเพียงวัดที่อยู่ด้านล่างชื่อ วัดสันต้นเปา แต่ต่อมาได้รวมกับพื้นที่ด้านบนกลายเป็น วัดพระธาตุแสนคำฟู ซึ่งภายในวัดมีจอมปลวกขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตรงพระธาตุเก่าแก่ในยุคสมัยเชียงแสน บรรยากาศภายในวัดมีความสงบร่มเย็น เดิมที่วัดสันต้นเปากับพระธาตุแสนคำฟูแยกกันเป็นคนละส่วน เพราะมีที่ดินของชาวบ้านคั้นอยู่ ต่อมาญาติโยมได้ถวายให้พระธาตุ จนมีพื้นที่เชื่อมต่อกับวัดสันต้นเปา ประกอบกับวัดสันต้นเปาไม่มีพระจำพรรษา ท่านจึงรวมวัดกับพระธาตุเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในชื่อว่า “วัดพระธาตุแสนคำฟู ” ซึ่งมีเนื้อที่ในปัจจุบันร้อยกว่าไร่ ชาวบ้านสันต้นเปาเป็นผู้ที่มีความเสียสละในการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาวัดให้สวยงามเมื่อวัดพระธาตุมีความต้องการแรงงานในการก่อสร้าง
ประวัติการบูรณะพระธาตุแสนคำฟู
พระธาตุแสนคำฟู ตั้งอยู่ ณ บ้านสันต้นเปา ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่ผุพังตามกาลเวลา จะสร้างขึ้นในสมัยใดไม่มีใครทราบ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยุคเดียวกับเชียงแสน เพราะโบราณวัตถุที่ขุด พบขณะทำการบูรณะนั้น เป็นยุคเดียวกัน
ต่อมา ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ ชาวสันต้นเปา มีอาชีพหาของป่าและตัดไม้ ได้มาพบพระธาตุเก่าที่เหลือแต่ซากเศษอิฐหาสภาพเดิมว่ามีรูปร่างอย่างไรนั้นยากเต็มที และเต็มไปด้วยต้นไม้เถววัลย์ขึ้นปกคลุมจนแทบจะมองไม่เห็น บนยอดเขาที่ไม่สูงมากนัก ชาวบ้านได้บอกต่อ ๆ กันไป มีชาวบ้านหลายราย ขึ้นมาเพื่อจะมาหาของป่า และตัดไม้ในบริเวณซากพระธาตุนี้เมื่อเข้าใกล้บริเวณใจกลางซากปรักหักพัง ก็ต้องพบกับงูใหญ่ ช้างใหญ่ หรือสัตว์อื่นยืนขวางไว้ ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไป แต่กระนั้นก็มีผู้มีวิชาเข้ามาขุดค้นเอาสิ่งของบางอย่างไป ดูจากร่องรอยที่พบเป็นหลุมกว้าง จากการขุดบูรณะไม่พบของมีค่า
ชาวบ้านเล่าว่า ถ้าใครไปเอาสิ่งของบริเวณพระธาตุไป ไม่ว่าจะเป็นอิฐ หิน ดิน หรืออะไรก็ตาม มักจะมีอันเป็นไร เจ็บไข้ได้ป่วย หรือไม่ก็ทำให้เกิดทุกข์ใจ หงุดหงิด เป็นต้น จนต้องนำของที่เอาไปมาคืนจึกหายเป็นปกติ
ต่อมาชาวบ้านปรึกษาหารือกัน จะสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและจะได้ทำบุญทำกุศกันบ้าง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากถิ่นอื่นมาทำมาหากิน ณ ถิ่นนี้ สรุปลงว่าจะสร้างวัดขึ้น บริเวณที่ราบใกล้กับพระธาตุ และให้ชื่อว่าวัดสันต้นเปา
ส่วนบนเขาที่เป็นที่ตั้งของพระธาตุ มีพระธุดงค์ผ่านมาพักบำเพ็ญเพียรภาวนาไม่ขาด และบางองค์ก็คิดจะบูรณะพระธาตุขึ้นมาใหม่ แต่ก็ทำได้เพียงปรับแต่งสถานที่แล้วก็ต้องจากไปไม่อาจจะสร้างพระธาตุขึ้นมาใหม่ได้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๕ พ่อหนานเสาร์ เตชะ ชักชวนชาวบ้านขึ้นมาถากถางปรับแต่งพระธาตุ นิมนต์พระมารับเครื่องไทยทาน และจัดงานขึ้นพระธาตุ แต่ก็ทำได้แค่นั้น ทิ้งร้างต่อไป
ที่มาและภาพประกอบ เชียงรายโฟกัส
แท็ก :